Bus Detector Application for Blind People
แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้พิการทางสายตาในเข้าถึงบริการรถโดยสารสาธารณะ
17 มิถุนายน 2563
โครงการแอปพลิเคชันตรวจจับรถโดยสารประจำทางสำหรับคนตาบอด (Bus Detector Application for Blind People) เป็นผลงานของนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชั้นปีที่ 4 จัดทำในรูปแบบแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้พิการทางสายตาในเข้าถึงบริการรถโดยสารประจำทางจากทั้งขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และของบริษัทเอกชนในกรุงเทพมหานคร
วัตถุประสงค์ของโครงการ
- เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาใช้บริการรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัทเอกชนในกรุงเทพมหานคร
- เพื่อศึกษากระบวนการทำงานของ การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) การรู้จำอักขระด้วยแสง (Optical Character Recognition; OCR) การประมวลผลภาพ (Image Processing) และฐานข้อมูลของส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ (Application Program Interface; API) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน
ระเบียบวิธีวิจัย
ในปัจจุบัน ผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยมีปัญหาในการใช้รถโดยสารประจำทางในการเดินทาง ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นในการสร้างแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่สามารถช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาในการใช้รถโดยสารสาธารณะได้อย่างปลอดภัย คณะผู้วิจัยจึงจัดทำโครงการแอปพลิเคชันตรวจจับรถโดยสารประจำทางสำหรับคนตาบอด (Bus Detector Application for Blind People) ขึ้น จากนั้นคณะผู้วิจัยจึงเริ่มสัมภาษณ์ผู้พิการทางสายตาเกี่ยวกับการใช้งานรถโดยสารประจำทาง และสืบค้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบส่วนต่อประสานกับผู้ใช้งาน (User Interface; UI) ที่ออกแบบมาเพื่อผู้พิการทางสายตา รวมไปถึงเครื่องมือที่จะใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ได้แก่ การเรียนรู้ของเครื่อง การรู้จำอักขระด้วยแสง และการประมวลผลภาพ จากนั้น จึงเริ่มวางแผนและออกแบบแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนดังกล่าว และดำเนินการตามแผนงาน และตรวจสอบความพร้อมของระบบก่อนเปิดใช้งาน
ระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชัน คณะผู้วิจัยพบปัญหาบางประการ ได้แก่ ตัวแอปพลิเคชันไม่สามารถเข้าถึงกล้องภายในสมาร์ทโฟนได้จึงแก้ปัญหาโดยการใช้ GoogleDrive สำหรับรูปภาพแทน แอปพลิเคชันขาดการทดสอบโดยผู้พิการทางสายตา ทำให้แอปพลิเคชันไม่ได้มีการปรับแต่งเพิ่มเติมเนื่องจากไม่มีความคิดเห็นจากผู้ใช้จริง และระยะห่างระหว่างตัวผู้ใช้และรถโดยสารสาธารณะต้องอยู่ในระยะห่าง 5 - 50 เมตร และความเร็วรถต้องน้อยกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
คณะผู้จัดทำ
- กุลจิรา แจ่มยิ่ง
- ยศสรัล พงค์ดา
- ปรีญาพัชญ์ ธนาธิปไชยเจริญ