Digital Creative Policy (Talent Mapping)

The Development of CREATIVITY Network in Digital Economy Transformation and Talent Clustering to fabricate Creative and Innovation ECOSYSTEM

17 มิถุนายน 2564

โครงการ The Development of CREATIVITY Network in Digital Economy Transformation and Talent Clustering to fabricate Creative and Innovation ECOSYSTEM มีเป้าหมายในการออกแบบแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สร้างสรรค์ (Guideline of best practices in creative industry development) นําเสนอแก่ภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางในการสนับสนุนกลุ่มคนในภาคธุรกิจด้านดิจิทัลและกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ให้เชื่อมโยงและเกิดการทํางานร่วมกัน รวมถึงการเป็นประตูสู่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลสร้างสรรค์ต่อไป

contentcjiwekwremjhzplrnhfi.png

วัตถุประสงค์ของงานวิจัย

  1. เพื่อจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สร้างสรรค์ (Guideline of best practices in creative industry development) และกรอบแนวคิดเชิงนโยบายในการพัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัลสร้างสรรค์ ที่เกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้แบบพหุสาขาวิชา ทั้งงานสร้างสรรค์นวัตกรรม ศิลปะ การออกแบบ และเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับประเทศไทย
  2. เพื่อศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดเก็บข้อมูลและการแสดงข้อมูล (Data visualization) และจัดทำบทวิเคราะห์แนวทางในการเก็บข้อมูลสำหรับหน่วยงานระดับประเทศที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค์ทั้งภาครัฐและเอกชน
  3. เพื่อพัฒนาตัวอย่างระบบเก็บข้อมูล เชื่อมโยงเครือข่ายผู้เกี่ยวข้อง และสร้างแผนที่ผู้มีสมรรถนะสูง (Talent Mapping) ของบุคลากรและหน่วยงานในประเทศ
  4. เพื่อศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพปัจจุบันของเทคโนโลยีดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมที่สามารถนําทักษะพหุสาขาวิชามาบูรณาการใช้ได้ เช่น การออกแบบสถาปัตยกรรม (ภายนอกและภายใน) การออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ และการสร้างงานทัศนศิลป์
  5. เพื่อศึกษาแนวทาง กรอบความคิด และนโยบายที่ส่งเสริมการจัดตั้งบริษัท (Spin-off Companies) ในอุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค์

ระเบียบวิธีวิจัย

เนื่องจากความขาดแคลนข้อมูลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และดิจิทัลสร้างสรรค์ของประเทศไทย คณะผู้วิจัยจึงเริ่มต้นดำเนินการตามหลักการทำแผนที่นักสร้างสรรค์ด้วยวิธีวิจัยสำหรับประเทศที่ยังขาดข้อมูลในหลายด้าน โดยมีการดำเนินงาน 3 ส่วนหลักด้วยกัน คือ การสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งมีโครงสร้างกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในยอุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือตัวแทนองค์กรทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคม เพื่อค้นหามุมมองต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์จากแต่ละภาคส่วนและหาแนวทางเพื่อสร้างความร่วมมือในด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลของเศรษฐกิจดิจิทัลสร้างสรรค์ต่อไป ถัดมาเป็นการจัดกิจกรรมและนิทรรศการ CreaVerse: Portal to Future บริเวณชั้น 1 ของอาคารเคเอ็กซ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อให้ผลงานดิจิทัลสร้างสรรค์ได้รับการมองเห็นและรับรู้จากบุคคลทั่วไปมากขึ้น รวมถึงมีกิจกรรมการเสวนาจากบุคคลในอุตสาหกรรมฯ และการแสดงดนตรีและการเต้นในพื้นที่ที่มีการฉายภาพเป็นฉากแบบปฏิสัมพันธ์กับผู้แสดง เพื่อเป็นตัวอย่างของการนำสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้กับศิลปะการแสดงให้แก่ผู้ชม สุดท้ายคือการออกแบบพัฒนาตัวอย่างการเก็บข้อมูลของบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ โดยได้ข้อมูลมาจากผู้ลงทะเบียนเข้าชมงานกิจกรรม CreaVerse: Portal to Future ที่-กรอกข้อมูลในระบบที่คณะผู้วิจัยออกแบบโดยใช้ต้นแบบจาก SOC2020 extended ของสหราชอาณาจักรที่เชื่อมโยงเข้ากับ ISCO-08 ของประเทศไทย และเทียบเข้ากับชุดทักษะในอาชีพต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์และสร้างต้นแบบการเก็บข้อมูลบุคคลในอุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค์ในประเทศไทย

contentwziffhciprbffaxfjwun.png

ผลที่ได้จากการดำเนินงานวิจัยพบประเด็นหลักในด้านการพัฒนานโยบายสนับสนุนและการเก็บข้อมูลระดับประเทศ และในด้านความร่วมมือและการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างองค์กรต่าง ๆ รวมไปถึงการออกนโยบายระดับท้องถิ่น โดยจะเน้นในด้านระบบการเก็บข้อมูลของอุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค์ทั้งในระดับบุคคล ธุรกิจ และในภาคการศึกษาที่ยังขาดการปรับปรุงให้สะท้อนข้อมูลปัจจุบันของอุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค์ และสามารถปรับปรุงได้โดยการเพิ่มหมวดหมู่ย่อยในหลักที่ 5-6 ของรหัสการจำแนกอาชีพบุคคล ซึ่งนำไปสู่คำแนะนำในการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรและแบ่งปันข้อมูลในการทำให้ฐานข้อมูลสมบูรณ์มากขึ้นเพื่อร่วมกันพัฒนานโยบายในระดับประเทศต่อไป

นโยบายปัจจุบันพบว่ายังไม่สอดคล้องกับความต้องการข้องอุตสาหกรรมทั้งเรื่องการสนับสนุนด้านงบประมาณ การส่งเสริมด้านการศึกษาและสนับสนุนคนทำงาน การส่งเสริมเรื่องลิขสิทธิ์รวมถึงกฎหมายที่ไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค์ กฎหมายและลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ยังมีการดำเนินการทับซ้อนของโครงสร้างองค์กรรัฐหลายองค์กรในการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ จึงควรมีการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานให้มีองค์กรหลักในการดำเนินงานแต่ละด้านของนโยบายสนับสนุน ที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลและผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค์ หรือการเป็น one-stop service เพื่อลดความสับสนในการแบ่งส่วนงานเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมในส่วนนั้น ๆ อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเทศไทยควรเริ่มต้นวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายด้วยข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ โดยมีคณะทำงานระดับมันสมอง (Think Tank) นำข้อมูลมาวิเคราะห์และทำหน้าในการชี้นำวิสัยทัศน์ให้กับผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงวางแผนกลยุทธให้สามารถสร้างนโยบายที่ตอบโจทย์กับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งในระดับชาติและนโยบายระดับท้องถิ่น