งานดีเบตหัวข้อ “ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในนโยบายพรรคการเมือง”

ESIC Lab ได้ร่วมจัดงานดีเบตพรรคการเมืองโดยมีประเด็นคำถามจากประชาชนผู้ประกอบอาชีพด้านศิลปวัฒนธรรมในหัวข้อ “ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในนโยบายพรรคการเมือง”

5 พฤษภาคม 2566

ศิลปวัฒนธรรมไม่ได้เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ

ESIC Lab มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาเครือข่ายความคิดสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและจัดกลุ่มผู้มีสมรรถนะสูงเพื่อสร้างระบบนิเวศของงานสร้างสรรค์และนวัตกรรม" โดยมีเป้าหมายหลักคือ ศึกษาและสร้างแนวทางการวางนโยบาย เชื่อมต่อเครือข่ายนักสร้างสรรค์ และส่งเสริมทักษะให้ทันโลก

ด้วยเหตุนี้ ESIC Lab จึงได้ร่วมจัดงานดีเบตพรรคการเมือง โดยมี สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (CAPT) ร่วมกับ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) และสำนักข่าว ThaiPBS จัดงานดีเบตขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในนโยบายพรรคการเมือง” ซึ่งมีพรรคการเมืองเข้าร่วมการดีเบตในครั้งนี้จำนวน 4 พรรค จัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ โดยมีประเด็นคำถามจากประชาชนผู้ประกอบอาชีพด้านศิลปวัฒนธรรมถึงตัวแทนของพรรคการเมืองในแต่ละพรรคอย่างเฉพาะเจาะจง และมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้



พรรคก้าวไกล–คุณอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล กล่าวว่า “กระทรวงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์” แต่เดิมมันมีหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมมาก แต่ว่าเรา grouping ได้ 5 กลุ่ม ได้แก่ Creative content industry, ศิลปวัฒนธรรม ทักษะ, Functional (Design, UX/UI, Architect), Createch (Creative+Technology) และ Cross industry เช่น สาธารณสุข คมนาคม ฉะนั้นวิธีวางโครงมีความแตกต่างจากเรื่องเดิม กระทรวงก็ทำในหน้าที่เดิม ส่วนของภารกิจจะมีการขยายจากภารกิจเดิมด้านวัฒนธรรม ขยายความเพิ่มเติมในด้าน "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" โดยผ่านหน่วยงานที่ชื่อว่า "สำนักงานนโยบายและกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์"

contentdcatmyeodsmzeowdkmcn.jpeg

พรรคไทยสร้างไทย–ดร.เมลิสา มหาพล กล่าวว่า ถ้าเรามองว่า soft power เป็นการขายภาพลักษณ์ไทยนิยมเท่านั้นแปลว่าภาพลักษณ์ของไทยนิยมอาจจะไม่ส่งผลไปสู่ด้านเศรษฐกิจ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเราทำ soft power อย่างที่เราพูดไปว่าเวลาเราจะทำอะไรเราไม่ได้มองไปที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือแค่ศิลปวัฒนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เรามองให้ครบทุกด้านว่าเราจะรวบรวมเอา soft power ทั้งหลายมาทำยังไงให้เกิด impact สูงสุด อย่างที่พรรคได้บอกว่าเราส่งเสริม soft power ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร แฟชั่น ผ้า ศิลปะการต่อสู้ ศิลปิน หรือภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภาพยนตร์ก็จะเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ได้ชัดเจนเพราะเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนง่าย มี impact ได้ง่าย

พรรคเพื่อไทย–นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวว่า CEA เป็นองค์การมหาชนที่ออกตามพระราชกฤษฎีกาองค์การมหาชน ซึ่งลักษณะของอำนาจหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะไปบังคับใครได้เลย CEA จะไปบอกว่าให้คนนั้นคนนี้ส่งข้อมูลมาเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่สิ่งที่เราต้องการคือเราต้องการองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมาย และสามารถที่จะมีงบประมาณเป็นของตัวเองที่มากพอสมควร นั่นก็คือ THACCA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเกี่ยวกับการที่จะเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่จะส่งเสริมให้ทางรัฐและเอกชนทำงานร่วมกันและผลักดัน soft power ทุกแขนง ที่สำคัญบทบาทของ THACCA คือบทบาทของเอกชน ดังนั้นบอร์ดของ THACCA จะต้องมีตัวแทนของรัฐและภาคเอกชนที่มีการขับเคลื่อนวงการต่างๆ เข้ามาร่วมในการตัดสินใจ

พรรคภูมิใจไทย–ดร.สกุลรัตน์ ทิพย์วรรณงาม กล่าวว่า เนื่องจากงานด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยจะสอดคล้องกับการท่องเที่ยว เพราะลักษณะของแต่ละจังหวัดจะต่างกัน ดังนั้นที่จะพูดถึง soft power จะแค่บ่งบอกเอกลักษณ์ แต่ยังไม่ทรงพลังพอที่จะขายไปต่างประเทศ ดังนั้นเราต้องวางรากฐานที่เข้มแข็งจริงๆ ของ soft power ที่ทำให้ยั่งยืน มั่นคง ผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้ โดยจะทำ 2 ทาง คือ ดึง และ ดัน ซึ่ง "ดึง" คือ ดึงงานเทศกาลระดับชาติเข้ามา และ "ดัน" คือ การดันเทศกาล ผลงานศิลปินไทย หรือของประชาชนที่มีความสนใจและความสามารถออกไปสู่ระดับโลก